เริ่มต้นใช้งาน
คำแนะนำทีละขั้นตอนในการเริ่มต้นคำร้องของคุณ
เขียนแคมเปญรณรงค์อย่างไรให้ประสบความสำเร็จ
แคมเปญมีเนื้อหาครบถ้วน ชัดเจน น่าสนใจ อธิบายว่าเรื่องนั้นส่งผลกระทบต่อตัวคุณ และมีความสำคัญอย่างไรกับคนอื่น หรือส่งผลต่อสาธารณะยังไง หัวข้อแคมเปญควรเขียนให้สั้น กระชับ บอกตรงๆ ไปเลยว่า คุณต้องการออกมาเรียกร้องให้ใครทำอะไร เพิ่มภาพประกอบที่อธิบายประเด็นนั้นได้ดีที่สุด เลือกผู้มีอำนาจตัดสินใจที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนั้นตรงๆ ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ เจ้าของบริษัท หรือบุคคลใดใดก็ตาม
ทำตามคำแนะนำต่อไปนี้:
- เขียนหัวข้อแคมเปญของคุณ
- ระบุผู้มีอำนาจตัดสินใจ
- เล่าเรื่องของคุณ
- อัพโหลดภาพหรือวิดีโอ
เขียนหัวข้อแคมเปญของคุณ
หัวข้อแคมเปญคือส่วนที่สำคัญจะเข้าถึงใจของผู้อ่าน ทำให้สั้นและเข้าใจง่ายที่สุดว่าคุณต้องการให้เรียกร้องอะไร เพื่ออะไร
เขียนให้กระชับเข้าไว้
หัวข้อแคมเปญของคุณเป็นข้อความเดียวที่คนจะเห็นในโซเชียลมีเดีย ดังนั้น เราแนะนำให้หัวข้อของคุณมีความยาวไม่เกิน 90 ตัวอักษร และมีใจความรวบรัด เข้าใจได้ในทันที
ตัวอย่าง: ขอให้นกชนหินเป็นสัตว์ป่าสงวนอันดับที่ 20 ของไทย
เน้นความสำคัญไปที่ทางแก้ปัญหา
คนอ่านต้องการรู้ว่าคุณอยากเปลี่ยนแปลงอะไรแน่ ก่อนที่เขาจะตัดสินใจมาเป็นแนวร่วมและลงชื่อสนับสนุนแคมเปญ แนะนำให้คุณเน้นใจความของหัวข้อแคมเปญไปที่แนวทางแก้ปัญหา
ตัวอย่าง: ขอให้ภาครัฐเข้ามาสนับสนุนในการจัดหา-ลดภาษีนำเข้าคาร์ซีท
สร้างจุดดึงความสนใจ
ดึงความสนใจของคนอ่านด้วยหัวข้อแคมเปญที่เร้าอารมณ์และให้ความรู้สึกว่าเป็นเรื่องที่เร่งด่วน เขียนให้ชัดเจนว่าใครคือคนที่เดือดร้อนและทำไมคุณถึงสนใจเรื่องนี้ และหากแคมเปญของคุณมีข้อจำกัดเรื่องเวลาหรือมีเดดไลน์ ให้ใส่ข้อมูลนี้ลงไปด้วยเลย เช่น ต้องการให้เกิด x ภายในวันที่ x ก่อนที่จะสายเกินแก้
ระบุผู้มีอำนาจตัดสินใจ
การระบุอีเมลของผู้มีอำนาจตัดสินใจลงไปในแคมเปญ เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่จะสื่อสารแคมเปญไปยังผู้ที่เกี่ยวข้อง และทำให้ผู้ที่ร่วมลงชื่อสนับสนุนมั่นใจว่ามีโอกาสที่แคมเปญจะประสบความสำเร็จ
ระบุตัวคน ไม่ใช่องค์กร
จะง่ายกว่าถ้าเรียกร้องความรับผิดชอบจากตัวบุคคลแทนที่จะร้องเรียนกับชื่อองค์กร แนะนำให้ใส่ผู้มีอำนาจตัดสินใจที่เป็นคนในหน่วยงานที่รับผิดชอบ เช่น เรียกร้องกับ "นายอำเภอเมืองสมุทรปราการ" แทนที่จะเป็น "เทศบาลเมืองสมุทรปราการ"
เลือกผู้ที่รับผิดชอบการแก้ไขปัญหาของคุณโดยตรง
แนะนำให้เลือกคนที่สามารถทำตามข้อเรียกร้องของคุณได้จริง แทนที่จะเลือกผู้มีอำนาจในตำแหน่งที่สูงที่สุดหรือมีชื่อเสียงที่สุด บางทีแล้วผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงสามารถอนุมัติและดำเนินการแก้ปัญหาของคุณได้เร็วกว่า นอกจากนี้ เขาจะอ่อนไหวต่อแรงกดดันจากมวลชนมากกว่า เพราะเขาไม่ค่อยเจออะไรแบบนี้บ่อยๆ
ระบุอีเมลของผู้มีอำนาจตัดสินใจลงไปด้วย
Change.org จะส่งอีเมลไปยังผู้มีอำนาจตัดสินใจทันทีที่คุณเปิดแคมเปญรณรงค์ ดังนั้นการระบุอีเมลที่ถูกต้องจึงสำคัญมาก คุณสามารถหาอีเมลของผู้มีอำนาจตัดสินใจได้โดย:
- สืบค้นทางอินเทอร์เน็ตและไล่หาขอมูลในไฟล์ PDF เช่น เอกสารประกอบการประชุม หรือรายชื่อคณะกรรมการบริหาร เป็นต้น
- เขียนอีเมลตามรูปแบบการตั้งชื่ออีเมลภายในองค์กร และลองดูหลายๆ แบบ เช่น หากคุณต้องการติดต่อ "สมชาย ใจดี" อีเมลของเขาอาจจะเป็น somchai@company.com, jaidee@company.com, somchai.jaidee@company.com เป็นต้น
- ลองโทรศัพท์ไปถามองค์กรของบุคคลนั้นโดยตรง
เล่าเรื่องของคุณ
หนังดีๆ สักเรื่องจะสามารถดึงความสนใจเราได้ตลอดจนจบด้วยองค์ประกอบการเล่าเรื่องที่ดี การสร้างแคมเปญรณรงค์ก็เหมือนกัน
ลองดูตัวอย่างแคมเปญที่เล่าเรื่องได้แบบถึงใจคน
แนะนำ "ตัวละครหลัก" ในแคมเปญของคุณ
แนะนำผู้คนในเรื่องของคุณ ว่าเขาเป็นคนยังไง น่าสนใจเพราะอะไร เพราะว่า "คน" เป็นตัวขับเคลื่อนเนื้อเรื่องไปด้วยการกระทำ และเมื่อผู้ฟังทราบว่ามีคนกำลังดิ้นรนแก้ปัญหาด้วยตัวเอง จะเกิดความเห็นใจมากขึ้น
ตัวอย่าง: แคมเปญขอความเป็นธรรมให้คุณพ่อ ‘สมชาย ม่วงวัง’ เสียชีวิตหลังจากฉีดวัคซีน
เป้าหมายและอุปสรรค
เขียนให้ชัดเจนว่าตัวละครหลักของคุณมีเป้าหมายอะไรและมีอุปสรรคอะไรบ้าง คนอ่านจะสนใจตัวละครที่มุ่งมั่นทำตามเป้าหมายให้สำเร็จถึงแม้สถานการณ์จะไม่เป็นใจ
ตัวอย่าง: คุณสถาพร ม่วงวัง ออกมาเรียกร้องความเป็นธรรมให้คุณพ่อที่เสียชีวิตหลังจากฉีดวัคซีนโควิด-19 โดยขอค่าชดเชยตามที่รัฐบาลประกาศไปแล้วก่อนหน้า ร้องเรียนไปที่ต่างๆ แล้วแต่ไม่ได้รับความสนใจ
จุดเปลี่ยน
หวังว่าจะเกิดอะไรขึ้น และกลัวผลร้ายอะไรบ้างในเรื่องนี้ เขียนให้ชัดเจนว่าจะเกิดอะไรขึ้นถ้าคุณชนะและจะเกิดอะไรขึ้นถ้าคุณแพ้ เพราะยิ่งจุดเปลี่ยนดูชัดเจนและสำคัญมากเท่าไหร่ เรื่องจะน่าสนใจและทรงพลังมากขึ้นเท่านั้น
ตัวอย่าง: คุณสถาพร ม่วงวัง ต้องสูญเสียคุณพ่อ ครอบครัวขาดผู้นำ และต้องเจอกับวิกฤตเศรษฐกิจจากโรคระบาด จึงขอค่าชดเชยตามเงื่อนไขของรัฐบาล และหากสำเร็จก็อยากให้เป็นกรณีตัวอย่างที่รัฐต้องเข้ามาดูแลประชาชนอย่างเต็มที่
เพิ่มภาพประกอบหรือวิดิโอ
นอกจากหัวข้อแคมเปญแล้ว คนจะเห็นภาพประกอบหรือวิดิโอเป็นอย่างแรก และจะเห็นเวลาแคมเปญถูกแชร์ในโซเชียลมีเดีย
ถ่ายทอดอารมณ์
ภาพที่ดีคือภาพที่สื่ออารมณ์ของแคมเปญรณรงค์และเล่าเรื่องได้แบบเข้าใจได้เลย ภาพสัตว์หรือภาพคนมักได้ผลดี
ภาพยิ่งใหญ่ยิ่งดี
พยายามอัพโหลดภาพที่มีความละเอียด 1600 x 900 พิกเซลเป็นอย่างต่ำ เพื่อให้ภาพชัดในจอทุกขนาด
หาภาพจากอินเทอร์เน็ต
ภาพที่ดีที่สุดคือภาพของคุณเอง แต่ถ้าคุณไม่มี ก็สามารถค้นหาจากเว็บไซต์อย่าง Flickr[https://www.flickr.com/] หรือ Google Images[https://images.google.com/] ได้ โดยใช้เครื่องมือค้นหาแบบละเอียดเพื่อหาภาพขนาดใหญ่ที่ไม่ติดลิขสิทธิ์